พระเมตตากับเด็กเยาวชนคนพิการทางสายตา

 

       อาจารย์ประหยัด  ภูหนองโอง บัณฑิตตาบอด (ดร.ประหยัด ภูหนองโอง) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ได้เล่าให้ฟังว่าในปี พ.ศ.2525 ได้นำคณะนักเรียนตาบอด ยืนอยู่แถวหน้าทางเสด็จผ่านเพื่อจะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อพระองค์เสด็จถึง ทรงรับสั่งว่า กำลังทำอะไร และเด็กตาบอดเหล่านี้มาจากไหน อาจารย์ประหยัด กราบบังคมทูลว่า สองคนนั้นคือ เด็กชายไชยา หงษ์ณี และเด็กหญิงจินตนา  หงฺษ์ณี ทั้งคู่มาจากเทือกเขาภูพาน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาทส่งมาให้เรียนหนังสือ ซึ่งข้าพเจ้าได้ส่งเข้าไปเรียนร่วมในระบบโรงเรียนปกติเรียบร้อยแล้ว และทั้งสองมีผลการเรียนที่ดี ส่วนเด็กคนอื่นๆ ที่มาส่งเสด็จในวันนี้ เดินทางมาจากหลายจังหวัด กำลังศึกษาวิธีอ่านเขียนอักษรเบรล์ล เมื่อผ่านการทดสอบจะส่งเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ข้าพระพุทธเจ้าและคณะได้เอาใจใส่ดูแลเด็กตาบอดเหล่านี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้โอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

        พระองค์ทรงรับสั่งว่า “การช่วยเหลือคนให้มีความรู้เป็นการให้ที่มีคุณค่าและเป็นคุณธรรมที่ดี ขอชมเชย ขอขอบใจ หากมีสิ่งใดจะให้ช่วยเหลือมูลนิธิฯ ให้เขียนไป งานนี้จะมอบให้ลูกสาว คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจงานด้านการศึกษา เป็นผู้ดูแล” และทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2527

        จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 ปีเศษ มูลนิธิฯ ได้ขยายเครือข่ายสอนคนตาบอดไปทุกภาคของประเทศไทย จำนวน 4 ศูนย์ 8 โรงเรียน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การศึกษาสร้างคน การศึกษา คือแสงสว่างส่องทาง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใย และเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ เปิดโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดป้ายอาคารและป้ายชื่อ

โรงเรียนธรรมิกวิทยา  เมื่อวันที่เสาร์ที่  8  สิงหาคม  2552

 

        สำหรับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดที่จังหวัดเพชรบุรี ใช้เวลาในการก่อสร้าง อาคาร 4 หลัง ในเวลา 8 เดือน บนเนื้อที่ดินบริจาค จำนวน 9 ไร่ ของนายแสวง  เอี่ยมองค์ และเปิดเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 รับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนตาบอดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น มีนักเรียน 13 คน ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 66 คน

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระเมตตาพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนธรรมิกวิทยา” เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 และทรงให้ความหมายว่า “โรงเรียนที่มีซึ่งวิชาความรู้และการประพฤติในความดี” และโรงเรียนได้ยึดเป็นนโยบายการจัดการศึกษาของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน เป็นผลทำให้โรงเรียนธรรมิกวิทยาเป็นที่ศรัทธาของสังคม โรงเรียนธรรมิกวิทยา ชาวเพชรบุรี และมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์อย่างล้นพ้น ที่พระองค์ได้ให้โอกาสลูกหลานตาบอดได้รับการศึกษาเพื่อที่จะช่วยตัวเองและช่วยสังคมได้ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิฯอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “....งานช่วยเหลือคนพิการมีความสำคัญยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากจะพิการ แต่อยากช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถปฏิบัติงานอะไร เพื่อมีชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่สังคม .ฉะนั้น นโยบายที่จะทำ คือช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดป้ายชื่อโรงเรียนธรรมิกวิทยา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552 และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) ต้นไม้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้นไม้ประจำโรงเรียนธรรมิกวิทยา นับเป็นการปลูกต้นไม้เป็นปฐม (ต้นแรก) ของส่วนป่านานาพรรณเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 54 พรรษา ปัจจุบันปลูกต้นไม้ไว้ทั้งหมดประมาณ 1,000 กว่าต้น เป็นต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นไม้มงคล ต้นไม้หายาก ต้นไม้สมุนไพร และต้นไม้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้ในที่ต่างๆ จำนวนรวมประมาณ 100 กว่าชนิด บนเนื้อที่ 20 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์

        1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 54 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2552

         2.  เพื่อเป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้ต่างๆ

            3.  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ แก่เด็กเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป

            4.  เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เด็กเยาวชน ประชาชน และจะพัฒนาเป็นป่าชุมชนต่อไป

            5. เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เด็กเยาวชน ประชาชน และจะพัฒนาเป็นป่าชุมชนต่อไป

     

ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์เป็นปฐมในสวนป่านานาพรรณเฉลิมพระเกียรติ  ฯ 

เมื่อวันเสาร์ที่  8  สิงหาคม  2552

 

       คนตาบอดที่เกิดในแผ่นดินนี้ ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น โดยเฉพาะชาวเพชรบุรี โรงเรียนธรรมิกวิทยา และมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะรวมพลังเพื่อพัฒนา เสริมสร้างการศึกษาของคนตาบอด เพื่อให้เขาช่วยตัวเองและช่วยสังคมได้ไม่เป็นภาระของใคร สนองพระปณิธานของพระองค์ตลอดนิรันดร์